เศรษฐศาสตร์จุลภาค

vition........

ป่าฝนเขตร้อนคือความสะพรั่งพร้อมแห่งชีวิตของธรรมชาติในป่า เราจะพบพืชและสัตว์จำนวนมากมาย หลากหลายกว่าแหล่งอื่นใดในโลก เมื่อป่าหมด….ส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งสมบูรณ์ของชีวิตก็ค่อยๆ หายไปช้าๆ เอเคอร์ต่อเอเคอร์ วันต่อวัน จากการสูญเสียพันธุ์พืชและสัตว์นี้เอง ทำให้ผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงที่จะบังเกิด แก่มนุษยชาติย่อมสูญเสียไปด้วย เพราะป่าฝนเป็นประดุจคลังอาหาร ยา และทรัพยากรอื่นๆ ถ้าเพียงแต่เรา จะเริ่มค้นหา สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในป่าฝนเขตร้อนได้รับการศึกษาเพื่อค้นหาประโยชน์ของมันไม่ถึงร้อยละ ๑ ด้วยซ้ำ
ป่าฝนเขตร้อนเป็นบ้านของชาวพื้นเมืองนับล้านที่สามารถบอกเล่าความลี้ลับของป่าให้เรารู้ได้ นอกจากนั้น ป่ายังเป็นตัวควบคุมบรรยากาศโลก ช่วยป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้น อันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ เรือนกระจก ท้ายที่สุดความอุดมสมบูรณ์ของสรรพชีวิตที่ทำให้ป่าฝนมีเอกลักษณ์ ก็คือทรัพยากรของป่านั่นเอง แหล่งพันธุกรรมของป่าฝนซึ่งมีความหลากหลายทางขีวภาพคือรากฐานที่ทุกชีวิต รวมทั้งชีวิตเราเองต้องพึ่งพา เพื่อความอยู่รอด

คนของป่า

ป่าไม้เขตร้อนทั่วโลกเป็นที่อาศัยของคนกว่า ๑๔๐ ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นชาวพื้นเมือง ประมาณการว่า มีชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ กันกว่า ๗๐๐ กลุ่มอาศัยอยู่ในปาปัวนิวกินี ประมาณ ๒๐๐ กลุ่ม อยู่ในที่ลุ่มคองโกเบซิน แห่งอัฟริกา อย่างน้อย ๖๐ กลุ่มอยู่ในโคลัมเบีย รวมทั้งสิ้นแล้วจะมีชนเผ่าต่างๆ อยู่มากกว่า ๑,๐๐๐ กลุ่มที่ยังมีชีวิต อยู่ทั่วโลก หลายกลุ่มยังคงรูปแบบทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น ชาวปีนันแห่งมาเลเซีย อีเฟและแซร์ ที่ยังคงล่าสัตว์ และเก็บของป่ายังชีพ

แม้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามาทำลายสังคมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องยาวนาน เราก็ไม่อาจปล่อยให้เกิดการ กดขี่ทางวัฒนธรรมต่อไปได้ คนเหล่านี้สมควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เคยเป็นมา เท่ากับที่เราเองก็ควรมีชีวิตอยู่ ตามแบบของเรา ในความเป็นจริงวัฒนธรรมของพวกเขาสมควรแก่การเคารพ ด้วยเหตุที่เป็นวัฒนธรรมอันยั่งยืน ซึ่งหามีไม่ในวัฒนธรรมตะวันตกอัน “ศรีวิไล”

ยิ่งกว่านั้น เราอาจเรียนรู้หลายอย่างจากประเพณี วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่สั่งสมมาของชาวพื้นเมือง เหล่านี้ พวกเขาเป็นทรัพยากรที่ไม่สามรถทดแทนได้ เขาสามารถสอนเราว่าพืชชนิดใดกินได้ พืชชนิดใดเป็นยา วิธีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และการชลประทาน รวมถึงวิธีการป้องกันพืชผลจากโรคและแมลงตัวอย่างเช่น ชนเผ่าลัวะทางภาคเหนือของประเทศไทยปลูกพืชอาหาร ๗๕ ชนิด สมุนไพร ๒๑ ชนิด ชนเผ่าฮานุนูในฟิลิปปินส์ ใช้ประโยชน์จากพืชในป่าได้ถึง ๔๓๐ ชนิด ชาวลาคันดอนมายาในเม็กซิโกตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ระบบชลประทาน และระบบเกษตรที่ซับซ้อนและเอื้อต่อระะบบปลูกพืชร่วม (inter cropping) และวนเกษตร เทคนิคดังกล่าว ทำให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในป่าฝนเขตร้อนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ พืชอาหารต่างๆ เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่วลิสง อโวคาโด มะม่วงหิมพานต์ และวานิลลา ล้วนเป็นพืชอาหารที่เราเรียนรู้จาก ชาวอินเดียนแดงแห่งลาตินอเมริกา และชุมชนในเขตป่าระยะต้น ชาวพื้นเมืองในป่ายังให้ควินินซึ่งใช้รักษา มาลาเรียแก่เรา รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นที่มีตัวยารักษาโรค


แต่โชคร้ายที่ชาวพื้นเมืองต้องเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผลกระทบจากโลกสมัยใหม่ได้แผ่ขยาย เข้าไปถึง แม้ส่วนที่ห่างไกลที่สุดของป่าฝนเขตร้อน ไม่มีชนเผ่าใดที่ปลอดความเสี่ยงจากการทำลายล้าง ทั้งโดยการ ทำลายอย่างย่อยยับ และการผสมกลมกลืน ตัวอย่างเช่น เมื่ออารยธรรมตะวันตกรุกถึงลุ่มน้ำอะเมซอน ประชากร ชาวพื้นเมืองก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ ๖-๙ ล้านคน เหลือไม่ถึง ๒ แสนคน ในศตวรรษที่ผ่านมา เฉพาะในประเทศบารซิลชนเผ่าต่างๆ ๘๗ เผ่าถูกทำลายล้างลงอย่างสิ้นเชิง

เราทุกคนได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยวัฒนธรรมหลากรูปแบบและมีเอกลักษณ์ที่ดำรงอยู่ในโลกวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ ประดุจผืนม่านประดับที่ประกอบด้วยสังคมมนุษย์ทั่วโลก ทุกครั้งที่วัฒนธรรมไม่ว่าเล็กๆ หรือเก่าแก่เพียงใด สูญไป เราจะค่อยๆ ยากจนลงทีละน้อย

มะม่วง มันสำปะหลัง และอื่นๆ

เมื่อดื่มกาแฟ ปอกกล้วย หรือโรยอบเชยลงบนขนมปัง คุณเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า อาหารต่างๆ เหล่านี้ มาจากไหน คำตอบก็คือป่าไม้เขตร้อน ผลิตผลเหล่านี้และอื่นๆ อีกนับพันที่เราต้องพึ่งพาได้มาจากพืชและต้นไม้ ที่ขึ้นในเขตร้อน ผลิตผลจากป่ามีมากมายนับแต่ยางไม้ที่อยู่ในสีทาบ้านถึงยางล้อรถยนต์ ฟุตบอลที่ลูกคุณเล่น จนถึงยาที่รักษาชีวิตของคุณเอง เช่น ยาชา ยารักษาโรค มะเร็ง จนถึงยาปฏิชีวนะ

ป่าไม้เขตร้อนเป็นคลังของสรรพสิ่งนับแต่ ข้าว กาแฟ ชา ช็อคโกแลต มะนาว ส้ม กล้วย และสับปะรด เหล่านี้เป็นพืชอาหารของเขตร้อนซึ่งมีอยู่จำนวนมากและนำมาใช้ปรุงอาหารได้ พืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก ที่เราคิดว่าเป็นพืชในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้วมีกำเนิดในเขตร้อน และในความเป็นจริง ผลผลิตต่างๆ ในสหรัฐ อเมริกามีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นที่ได้จากพืชประจำถิ่น พืชที่ยังไม่ปลูกเป็นการค้าก็มีอีกหลายชนิดที่เป็นอาหารได้ มีผลไม้กินได้ ๑๕ ชนิด ที่มีความสำคัญทางการค้าจาก ๒,๕๐๐ ชนิดในป่าเขตร้อน

ผลผลิตจากป่าไม้เขตร้อนที่มีความสำคัญในตลาดอาหารทั้งในญี่ปุ่นและในยุโรป เช่น ธอมาติน (thaumatin) เป็นสารให้ความหวานที่ไม่ทำให้อ้วน ซึ่งผลิตจากพืชเขตร้อนก็เพิ่งถูกนำเข้าสู่ตลาดเมื่อเร็วๆ นี้ สารให้ความหวาน ตัวนี้มีความหวานมากกกว่าน้ำตาลซูโครส อีกไม่นานเราคงเห็นวางจำหน่ายตามชั้นขายเอง

ชนิดของพืชที่นำเข้ามาจากป่าไม้เขตร้อน ไม่เพียงแต่เพิ่มความหลากหลายให้อาหารเท่านั้น ยังสามารถ ใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์พืชที่เราได้กินได้ใช้อยู่ทุกวันอีกด้วย พืชเขตร้อนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของพืช ในบ้านเราโดยการผสมพันธุ์ ผลของการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์เขตร้อนกับสายพันธุ์ท้องถิ่นของบ้านเรา ทำให้กาแฟกับอ้อยไม่สูญพันธุ์ไปเพราะโรค ข้าวโพดป่าผสมกับข้าวโพดบ้าน ทำให้ได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรค จึงไม่จำเป็นต้องปลูกซ่อมทุกปีเช่นพันธุ์ที่เราใช้ในปัจจุบันนี้เป็นอยู่

กำจัดแมลงโดยธรรมชาติ

แมลงทำลายพืชผลทางการเกษตรในสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่าถึงปีละ ๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ และกว่า ครึ่งหนึ่งของแมลงศัตรูพืชในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้านทานต่อสารกำจัดแมลงประเภทอนินทรีย์ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติมากขึ้น เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือความต้านทานของแมลงศัตรูพืช ประกอบกับความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

มีการค้นหาวิธีควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติโดยมองมาที่ป่าเขตร้อน พืชพันธุ์ในป่าฝนเขตร้อน จำนวนมากมีกลไกธรรมชาติต่อสู้แมลง บางชนิดมีสารประกอบบางอย่างที่สามารถใช้เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่เราปลูก นอกจากนั้น กำลังมีความพยายามทดลองใช้แมลงจากเขตร้อนเป็นศัตรูธรรมชาติต่อสู้กับแมลงในท้องถิ่น ของสหรัฐอเมริกา การพึ่งพาศัตรูธรรมชาติจึงเริ่มเป็นที่สนใจในเชิงเศรษฐกิจ จากตัวเลขของกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกาพบว่า การนำเข้าแมลงที่เป็นปฏิปักษ์กับศัตรูพืชทำกำไรให้ ๓๐ เหรียญสหรัฐต่อการลงทุน ๑ เหรียญสหรัฐ

ประโยชน์ต่อสุขภาพ

ป่าไม้เขตร้อนเป็นประดุจตู้ยาอันแสนมหัศจรรย์ พืชในเขตร้อนจำนวนมากมีสารประกอบธรรมชาติที่นำมา ทำยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยารักษาโรคหัวใจ และฮอร์โมนต่างๆ หนึ่งในสี่ของตำรับยาที่ขายในสหรัฐอเมริกา มีสารประกอบที่ได้จากพืช ประมาณมูลค่าของยาเหล่านี้ทั่วโลกในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีมูลค่าถึง ๕๑ พันล้านเหรียญ สหรัฐ พืชประมาณร้อยละ ๕ มีคุณสมบัติเป็นยาและเป็นพืชเขตร้อนในจำนวนนับพันชนิด ขณะที่มีการศึกษา ความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ไม่ถึง
ร้อยละ ๑

สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้จำแนกพบว่าพืช ๓,๐๐๐ ชนิด มีคุณสมบัติแก้โรคมะเร็ง ในจำนวนนี้ร้อยละ ๗๐ มาจากป่าเขตร้อน ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ แพงพวงฝรั่ง มีสารแก้มะเร็งในเม็ดเลือดที่เกิดในเด็ก ซึ่งต้องขอบคุณพืชเขตร้อนที่ทำให้เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีโอกาสหายได้ร้อยละ ๙๙ เปรียบเทียบกับแต่เดิม ก่อนค้นพบตัวยา โอกาสหายมีเพียงร้อยละ ๒๐ สารดังกล่าว ยังสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin’s disease) มะเร็งหน้าอก และมะเร็งต้นคอ (cervical cancer)

กบซอมบี้

เตโตรโดท็อกซินที่ใช้เป็นยาขจัด ความเจ็บปวดในการผ่าตัดเฉพาะที่และเป็นยาคลายกล้ามเนื้อของแพทย์ตะวันตก มีความแรงกว่าโคเคนถึง ๑๖๐,๐๐๐ เท่านั้น เป็นยาโบราณที่หมอผีวูดูแห่งไฮติใช้ในการทำให้คนคล้ายเข้าญาณดังซอมบี้ สารประกอบนี้ ได้จากกบชนิดหนึ่งในป่าฝนอเมริกากลาง

ไดออสจีนินเป็นสารออกฤทธิ์ในยาคุมกำเนิด และคอร์ติโซนที่ใช้รักษาผื่นคัน อาการติดเชื้อ อาการระคายเคืองที่ผิวหนัง เป็นสารประเภทสเตอรอยด์ที่ได้จากพืชในป่าฝนเขตร้อนของเม็กซิโกและกัวเตมาลา ควินินได้จากเปลือกต้นซินโคนา ซึ่งเป็นไม้เขตร้อน เป็นสารประกอบชนิดแรกที่พบว่ามีประสิทธิผลในการักษา โรคมาลาเรีย ซึ่งคร่าชีวิตของผู้คนมานับล้านทั่วโลก ยารักษาโรคมาลาเรียที่สังเคราะห์ขึ้นมาก็ใช้ยาธรรมชาติ ตัวนี้เป็นแม่แบบ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ยาสังเคราะห์ดังกล่าวนั้นสูญเสียประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ เชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่พัฒนาความต้านทานขึ้น แต่กรณีแบบนี้มิได้เกิดกับยาธรรมชาติที่สกัดจากเปลือกต้น ซินโคนาซึ่งไม่เสียประสิทธิภาพแม้จะใช้มานานนับศตวรรษ

พลังแห่งต้นไม้

มีการนำสารประกอบต่างๆ จากเขตร้อนไปใช้ในทุกอย่างนับแต่เครื่องสำอางถึงยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถยนต์ และรถเมล์ส่วนใหญ่ร้อยละ ๔๐ เป็นยางธรรมชาติซึ่งมีความยืดหยุ่นและทนความร้อนสูงกว่ายางสังเคราะห์ ยางล้อเครื่องบินและรถไถส่วนใหญ่ทำจากยางธรรมชาติเกือบทั้งหมด ซึ่งหมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ส่งออก มูลค่าการส่งออกของยางธรรมชาติสูงถึงกว่า ๓ พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และเป็นสินค้าส่งออกปริมาณสูง เป็นอันดับ ๔ ของประเทศโลกที่สาม การกรีดยางออกจากต้นโดยไม่ต้องตัดต้นไม้ทำให้ยางเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถทดแทนได้

ต้นยางขึ้นเป็นแปลงขนาดใหญ่ในมาเลเซีย และประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งตั้งเดิม ของยางธรรมชาติ ยางพันธุ์พื้นเมืองในบราซิลมีความจำเป็นในการใช้ผสมพันธุ์กับยางพันธุ์ปลูก เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ ต้านทานโรคอย่างมีประสิทธิภาพและทนต่ออากาศหนาวเย็นและความแห้งแล้ง ส่วนพันธุ์ป่าซึ่งให้น้ำยาง ไม่เหมือนกันก็ใช้ปรับปรุงส่วนผสมของยางได้

กำบังพายุ

ป่าไม้เขตร้อนที่บทบาทต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ นับแต่ช่วยป้องกันและบรรเทาภาวะน้ำท่วม และแห้งแล้ง ช่วยยึดหน้าดินและลดแรงปะทะของพายุ

ป่าฝนเขตร้อนครอบคลุมเนื้อที่ไม่ถึงร้อยละ ๗ ของพื้นที่ผิวโลก แต่ก็เป็นพื้นที่รับฝนเกือบครึ่งหนึ่ง ของฝนที่ตกบนผืนดินป่าดูดซับน้ำฝนเต็มเปี่ยมใสตลอดปี หากป่าถูกตัดทำลาย แม่น้ำจะถูกตะกอนทับถม ภายหลังฝนตกและน้ำลดลงยามแล้ง ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมและแห้งแล้ง และเกิดการพังทลายของหน้าดินเร็วขึ้น

ผลของการทำลายป่าอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พายุ ในประเทศไทยทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ก่อความเสียหายอย่างมหาศาล มีผู้เสียชีวิต ๔๐๐ คน กลายเป็น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน ความเสียหายมากกว่า ๕ ล้านเหรียญสหรัฐ พายุได้ทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรง เพราะการทำลายป่าอย่างหนักหน่วง ปัญหาคล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นในป่าไม้เขตร้อนทั่วโลก การตัดไม้ในป่าฝน เขตร้อนหนึ่งในสามส่วนของซาราวัค มาเลเซีย ทำให้เกิดน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้งและขาดแคลนอาหาร ภาวะแห้งแล้งที่ผ่านมาในอัพริกาโค่นถล่มในบราซิล ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการทำลายป่าทั้งสิ้น ประมาณการว่า มีประชากรกว่า ๑ พันล้านคนทั่วโลกได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ความเสื่อมโทรมของดินและน้ำ เป็นระยะๆ โดยมีสาเหตุมาจากการทำลายป่าไม้เขตร้อน

การกร่อนของหน้าดินซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายป่า ทำให้เกิดตะกอนมหาศาลพัดพาลงมาตามกระแสน้ำ มาติดค้างตามหน้าเขื่อนและลำคลอง ทำให้แม่น้ำตื้นเขินและน้ำท่วมง่ายขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิด ความเสียหาย เช่นในประเทศปานามาเกิดตะกอนจากการไหลบ่าของน้ำจากพื้นที่ป่าไม้ซึ่งถูกทำลาย รวมทั้งตะกอน จากหน้าเขื่อน สะสมในแม่น้ำที่ไหลลงคลองปานามาทำให้คลองใช้การไม่ได้ ส่งผลให้เรือต้องเดินทางอ้อม ทวีปอเมริกาใต้ สำหรับในเอเซีย อัฟริกา และอเมริกาใต้ การสะสมของตะกอนลดอายุการใช้งานของเขื่อน หลายแห่งลงถึงร้อยละ ๕๐

ป่าเขตร้อนเป็นแนวธรรมชาติที่ป้องกันพายุเฮอริเคน ไซโคลนและใต้ฝุ่น ในแต่ละปีจะมีพายุร้อนเกิดขึ้น ๘๐-๑๐๐ ครั้งทั่วโลก เมื่อพายุเหล่านี้เคลื่อนผ่านเหนือแผ่นดิน ป่าเขตร้อนจะรับแรงจากสายลมกรรโชก ในแถบชายฝั่ง ป่าเขตร้อนจะป้องกันน้ำที่ถูกพายุซัดไม่ให้กัดเซาะชายหาดและแนวฝั่งทะเล เมื่อการพัฒนาได้เข้ามาทำลายป่าฝน ชายฝั่งทำให้สูญเสียกันชนไป ความเสียหายจากพายุก็เกิดมากขึ้น ในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตเพราะพายุเขตร้อน อย่างน้อย ๒๐,๐๐๐ คน คิดเป็นค่าเสียหาย ๘ พันล้านเหรียญสหรัฐ

ควบคุมบรรยากาศ

ป่าไม้เขตร้อนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมบรรยากาศผืนพันธุ์ไม้ที่แผ่ขยายกว้างใหญ่ ให้น้ำหมุนเวียน ออกมามหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงมีอิทธิพลต่อบรรยากาศโลกเช่นเดียวกับที่มีอิทธิพลต่อน้ำฟ้าและอุณหภูมิในท้องถิ่น ผลกระทบจากการสูญเสียป่าไม้เขตร้อนประการหนึ่งก็คือทำให้บรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง เมื่อป่าถูกทำลาย ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๓๐ ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยสู่บรรยากาศ บวกกับก๊าซมีเธนและไนตรัสออกไซด์ที่ไม่รู้ปริมาณ ก๊าซเหล่านี้มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งมีผลร้ายต่อการเกษตร และคุณภาพชีวิตทั่วโลก

ประมาณ ๒ ใน ๓ ของน้ำจืดบนผิวโลกอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำอะเมซอน (ไม่รวมน้ำแข็งขั้วโลกและน้ำใต้ดิน) น้ำดังกล่าวจะหมุนเวียนคงตัวอยู่ในวัฏจักรน้ำ เมื่อฝนตกลงมาจะถูกดินและป่าไม้ดูดซับไว้ น้ำบางส่วนระเหยไป เพราะความร้อน บางส่วนถูกพืชดึงไปใช้และปล่อยกลับไปสู่บรรยากาศ ไอน้ำรวมตัวกันเป็นก้อนเมฆและคืนสู่ผืนดิน อีกครั้งในรูปฝน น้ำมากกว่าครึ่งในแถบนี้กลับคืนสู่ระบบในลักษณะดังกล่าว

ขณะที่น้ำหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักร มันจะช่วยควบคุมสมดุลของภูมิอากาศที่คงตัวมานานหลายศตวรรษ แต่เมื่อป่าไม้ถูกทำลายไปเรื่อยๆ น้ำในวัฏจักรก็เหลือน้อยลง การสูญเสียพื้นที่ป่าส่งผลให้ปริมาณฝนลดลง และเพิ่มอุณภูมิผิวดินของป่าฝนเขตร้อน ผลก็คือความแห้งแล้งมีแนวโน้มจะแผ่ขยายไปทั่ว ซึ่งในที่สุดผลกระทบ ต่อสภาพภูมิอากาศจะขยายวงกว้างขึ้น การทำลายป่าในแถบอะเมซอนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่คาดว่าจะทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของพื้นที่เกษตรกรรม ไปเป็นแบบทางตอนใต้และตะวันตกของที่ราบลุ่มน้ำ

การทำลายป่าไม้เขตร้อนอาจทำให้แบบแผนของบรรยากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพื้นผิวดิน ลักษณะต่างๆ ดูดซับหรือสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เท่ากัน หิมะ และทะเลทราย ซึ่งค่อนข้างสะท้อนแสง จะสะท้อนพลังงานจากแสงอาทิตย์กลับคืนสู่บรรยากาศ และอวกาศภายนอก พื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าทึบเขียว ของเขตร้อนจะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ การขยายตัวของอากาศเป็นวงกว้างตามแนวป่าฝนเขตร้อน ขนาบ เส้นผ่าศูนย์สูตรส่วนหนึ่งเกิดจากความร้อนที่ป่าไม้เขตร้อนดูดซับไว้ การขยายตัวอย่างมากมายนี้เองที่ช่วยให้เกิด แบบแผนการหมุนเวียนของบรรยากาศในโลกทั้งโลก แต่การทำลายป่าไม้เขตร้อน สามารถที่จะทำลาย กระบวนการนี้ได้โดยทำให้แบบแผนของลมและฝนทั่วโลกเปลี่ยนแปลง ผลที่คาดว่าจะตามมาก็คือ ปริมาณฝนลดลง และทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การปลูกข้าวในพื้นที่ตอนบนของสหรัฐอเมริกาแลแคนาดา รวมไปถึงยุโรป และสหภาพโซเวียต

ป่าไม้ในเขตร้อนก็เหมือนกับป่าไม้ทั่วไปที่มีคาร์บอนและไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ผลของการทำลายป่ามีผลต่อสภาพอากาศของโลก โดยการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ มีเธนและไนตรัสออกไซด์ ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ หรือการย่อยสลายรูปแบบอื่น ก๊าซเหล่านี้จะดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้น กระบวนการดังกล่าวนี้เรียกว่าปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งโดยปกติแล้ว จะช่วย รักษาโลกให้อบอุ่นเพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนนั้น ก๊าซที่ปล่อยออกมาจาก กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกตามธรรมชาติอยู่แล้ว ผลที่คาดว่า จะตามมาจากภาวะโลกร้อนก็คือ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พายุรุนแรงขึ้น แบบแผนอากาศเปลี่ยนแปลง และป่าไม้ยืนต้นตาย

คาร์บอนไดออกไซด์ทีบทบาทมากที่สุดในบรรดาก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เป็นตัวการประมาณครึ่งหนึ่ง ของการเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นเมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินถูกเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นพลังงานในรถยนต์หรือให้ความร้อนในบ้าน นอกจากนั้น เมื่อป่าไม้ถูกตัดเผาย่อมปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วย จนปัจจุบันนี้ ปริมาณคาร์บอนได้ออกไซด์ ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๕ ของปริมาณเมื่อ ๑๐๐-๑๕๐ ปีก่อนโน้น

การทำลายป่าผืนบริสุทธิ์ที่หนาทึบ ทำให้เกิดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ ๑.๔ พันล้านตันต่อปี เมื่อรวมกับการทำลายป่าเปิด แลเป่ารุ่นที่สอง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นอีก ๑.๑ พันล้านตัน รวมปริมาณทั้งสิ้น ๒.๕ พันล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา จากกิจกรรมของมนุษย์ในแต่ละปี

ความเข้มข้นของก๊าซมีเธนและไนตรัสออกไซด์ที่เพิ่มขี้นในบรรยากาศ ก็ทำให้โลกร้อนขึ้นเช่นกัน โดยที่มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่าในรอบศตวรรษ มีเธนที่แพร่ออกมาจากากรทำลายป่าไม้เขตร้อนมีปริมาณ ร้อยละ ๑๐-๑๕ ของปริมาณที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันส่วนไนตรัสออกไซด์นั้นยังไม่มีการประมาณ

การทำลายและเผาป่าฝนเขตร้อน มีส่วนทำให้เกิดการสะสมของคาร์บอนในบรรยากาศ เนื่องจากพืชพันธุ์ไม้ ที่มีชีวิตอยู่ในป่าเขตร้อนเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้เป็นปริมาณมหาศาล คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ จะเสริมให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกมากขึ้น เมื่อป่าเขตร้อนถูกตัดทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ต้นไม้และพันธุ์พืช ที่ถูกเผาหรือปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายจะคายคาร์บอนไดออกไซด์และมีเธนออกมาสู่บรรยากาศ

สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (The National Academy of Science) ประมาณการว่าอุณหภูมิของ บรรยากาศโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง ๒.๗ - ๘.๑ องศาฟาเรนไฮต์ (๑.๕ - ๔.๕ องศาเซลเซียส) ใน ๕๐ - ๑๐๐ ปีข้างหน้า หากประมาณอย่างต่ำ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบรรยากาศ ๒.๗ อาศาฟาเรนไฮต์ (๑.๕ องศาเซลเซียส) จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราที่มองไม่เห็นใน ๖,๐๐๐ ปี แต่หากประมาณอย่างสูง คือ ๘.๑ องศาฟาเรนไฮต์ (๔.๕ องศาเซลเซียส) ภายในเวลาไม่ถึงร้อยปี อุณหภูมิโลกจะถูกปรับให้อยู่ในระดับเฉลี่ยเท่าที่เคย ปรากฏในยุคไดโนเสาร์

โอกาสที่ความแห้งแล้งจะรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้นนั้น ก็เพิ่มขึ้นตามการสะสมของก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบ ประการหนึ่งที่รัฐบาลอเมริกาได้คาดการณ์ไว้ก็คือ จำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า ๙๕ องศาฟาเรนไฮต์ (๓๕ องศาเซลเซียส) ในแหล่งปลูกข้าวโพดของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่า ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเพียง ๓ องศาฟาเรนไฮต์ (๑.๖ องศาเซลเซียส) มีผลให้ผลผลิตลดลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนอีก ๑ - ๒ ฟุต น้ำเค็มจะหนุนเข้ามาในระบบน้ำดื่มบริเวณชายฝัง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อภาวะ เศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์แถบชายฝั่งทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น เมืองชายฝั่งทะเลอย่างไมอามีจำเป็นต้องมีที่ ระบายลมพายุ หรือไม่ก็กำแพงกั้นน้ำ เพื่อให้น้ำทะเลอยู่เฉพาะในอ่าวไม่หนุนขึ้นมา เมืองในที่ลุ่มส่วยใหญ่ รวมทั้งเมืองที่อยู่บริเวณปากน้ำมิสซิสซิปปี้น้ำอาจท่วมทำลายที่วางไข่ของปลา คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ สหรัฐ

วิธีการหนึ่งที่จะทำได้ คือ ลดการแพร่ของก๊าซเรือนกระจก โดยการชักชวนประเทศพัฒนาให้ป้องกัน ป่าไม้เขตร้อน แต่อย่างไรก็ดีการตัดไม้ของสหรัฐอเมริกาในแถบวอชิงตัน โอเรกอน อลาสก้า และการอนุรักษ์ป่าบรรพกาลผืนสุดท้ายซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่ค่อยเอาจริงเอาจังนั้น ก็ได้ทำลาย ความเชื่อถือในการแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเขตร้อนไปด้วยเช่นกัน

ประเทศในเขตร้อนนั้นมีความตระหนักรู้มากกว่าด้วยซ้ำ ดังตัวอย่างในปีพ.ศ. ๒๕๓๒ เลขานุการ กระทรวงต่างประเทศของบราซิล นายเปาโล ทาโซ ฟรีซา เดอลิมา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่สุดเมื่อพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การปรับปรุงนโยบายป่าไม้ของรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว จึงจำเป็นมากในการโน้มน้าวรัฐบาลประเทศที่มีป่าฝนเขตร้อน

กติการของป่า

ป่าไม้เขตร้อนอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ธรรมชาติต้องพึ่งพา เพื่อความอยู่รอด สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในป่าเขตร้อนเป็นที่รวมของหน่วยพันธุกรรม (genetic information) ปริมาณมหาศาล เป็นแม่แบบในการสร้างชีวิต แหล่งพันธุกรรมอันกว้างขวางและหลากหลาย ทำให้เรามั่นใจ ในความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศน์ ทำให้กระบวนการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติอันเป็นหัวใจสำคัญ ของวิวัฒนาการเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยแหล่งพันธุกรรมอันหลากหลายและมหาศาลนี้ สิ่งมีชีวิตก็สามารถปรับตัว และสืบพันธุ์สนองตอบต่อภาวะกดดันจากสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและโรคได้

ความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ธรรมชาติยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้เนื่องจากโลกร้อน จะก่อให้เกิดแรงกดดันต่อระบบนิเวศน์ของป่าแบบที่ไม่อาจคาดเดาได้ ยิ่งระบบนิเวศน์มีความหลากหลายเท่าใด โอกาสที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็มีมากขึ้นเท่านั้น

น่าเศร้าใจที่โลกใบนี้กำลังสูญเสียแหล่งพันธุกรรมอย่างมหาศาล เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย จนใกล้สูญพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปถึง ๑๗,๐๐๐ ชนิดต่อปี เมื่อป่าฝนเขตร้อน ถูกทำลาย

สรรพชีวิตเกี่ยวพันกันด้วยสายใยซับซ้อนของความสัมพันธ์และมีภาวะพึ่งพากัน เช่นแมลงช่วยผสม เกสรดอกไม้ให้พืช พืชให้อาหารแก่แมลงและสัตว์กินพืชอื่นๆ สัตว์กินพืชและแมลงให้อาหารแก่สัตว์กินสัตว์และนก สัตว์เหล่านี้เป็นตัวควบคุมประชากรของเหยื่อของมัน และให้อาหารแก่พืชด้วยของเสียที่ถ่ายออกมา

ความผันแปรใดๆ ของกระบวนการเหล่านี้ จะมีผลกระทบตลอดทั้งระบบ ทั้งนี้ขึ้นกับความซับซ้อน ของความสัมพันธ์ของพืชและสัตว์ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครทราบได้ว่า หากจะเกิดการสูญเสียแล้ว สิ่งมีชีวิตใด ต้องสูญเสียบ้าง ลองนึกภาพหมุดเล็กที่ติดปีกเครื่องปิน เราอาจเอาหมุดออก ๒ - ๓ ตัวได้โดยที่เครื่องบิน ยังบินได้อยู่ แต่หากเราเอาหมุดออกจำนวนหนึ่งที่มากพอ ปีกเครื่องบินก็จะหลุด คำถามก็คือหมุดกี่ตัวที่จำเป็น ต่อการให้เครื่องบินบินอยู่ได้?

การสูญพันธ์ของพืชและสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อนโน้น สิ่งมีชีวิตบนโลกก็สูญพันธ์ไปแล้ว ร้อยละ ๖๐ - ๘๐ แม้จะไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงของการสูญพันธ์ครั้งใหญ่นั้นว่าเกิดจากอะไร แต่เรารู้ว่าปัจจุบันนี้ การสูญเสียพันธุ์พืชและสัตว์เกิดขึ้นเพราะอะไร วาทะอมตะของโปโก ๑ กล่าวไว้ “เราพบศัตรูแล้ว … คือตัวเราเอง”

บุญคุณไก่งวง

เมล็ดของต้นซัลวาเรียอันงดงามไม่งอกมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นักพฤกษศาสตร์เดาว่าเมล็ดพวกนี้ จะขึ้นได้ต่อเมื่อ ถูกนกโดโดกินก่อน แต่นกโดโดก็สูญพันธ์ไปแล้ว นกโดโดกับต้นซัลวาเรียมีกำเนิดบนเกาะมอริเซียสในมหาสมุทร อินเดีย ที่เกาะแห่งนี้ไม่พบต้นกล้าของซัลวาเรีย มีแต่ต้นที่โตเต็มที่อายุนับร้อยปี นักพฤกษศาสตร์จึงนำเมล็ด ซัลวาเรียไปเลี้ยงไก่งวงบ้านหลังจากไก่งวงกินแล้วถ่ายออกมา เมล็กพันธุ์ก็งอก ต้นไม้จึงรอดจากการสูญพันธุ์

การสูญเสียครั้งใหญ่ในระยะแรกต่างจากการสูญเสียอย่างฉับพลันในปัจจุบันนี้ เชื่อกันว่าพันธุ์พืชจะถูก ทำลายอีกครั้งหนึ่งมากกว่าเดิม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เห็นว่าจะมีปัญหาต่อสรรพชีวิตในอนาคต หมายความว่า ข้อเท็จจริงอันซับซ้อนที่กล่าวมานี้อันตรายกว่าการสูญพันธุ์ในยุคไดโนเสาร์ เนื่องจากสาเหตุซึ่งได้แก่กิจกรรม ของมนุษย์อาจสืบเนื่องไม่หยุดยั้ง ดังนั้นการที่ธรรมชาติจะฟื้นกลับคืนดังที่เคยเกิดขึ้นหลังการสูญเพันธุ์ครั้งก่อน คงเป็นไปไม่ได้ก็ได้ นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าจะรุนแรงพอๆ กับภัยเหมันต์นิวเคลียร์ ๒ เลยทีเดียว

หากปล่อยให้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกสูญเสียย่อยยับไป มนุษยชาติเองก็ไม่อาจรอดชีวิต หรือหากรอดชีวิต… ชีวิตบนโลกที่สูญเสียพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ไปกว่าครึ่งก็ย่อมแร้นแค้น เราคงต้องซื้ออาหาร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และยารักษาโรค ที่เก็บรวมอยู่ในป่าฝนเขตร้อนในราคาแพงลิบตลอดไป ชนกลุ่มน้อยนับล้านต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย สูญเสียวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เราต้องเผชิญกับภูมิอากาสที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนบนโลกที่เหลือแหล่งพันธุกรรม น้อยลงและเปราะบาง จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเราต้องพิทักษ์ป่าไม้เขตร้อนเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตบนโลกใบนี้

๑. โปโล - ชื่อตัวการ์ตูนของ วอล์ท เคลลี ซึ่งเป็นที่นิยมมากในอเมริกา โปโกเป็นตัวโอพอสซัม

๒. เหมันต์นิวเคลียร์ คือ หายนภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ในโลก โดยฝุ่นควันจากการระเบิดจะบดบังแสงอาทิตย์ จนเกิดความหนาวเย็นเฉียบพลันทั่วทั้งโลก และทำลายสรรพชีวิตในโลกจนหมดสิ้น




FROM HER
FROM HER
PROGRAM FREE
DOWNLOADFREE

Read more!

0 Response to "ผืนป่าอันอุดมทำไม้ต้องอนุรักษ์ป่า"

Post a Comment

Followers